นี่คือเรื่องราวของ “แชร์ อามี่” (Cher Ami – เป็นภาษาฝรั่งเศสแปลว่า ‘เพื่อนรัก’) นกพิราบสื่อสารในสงครามโลกครั้งที่ 1 ของกองทัพสหรัฐฯ ที่สร้างวีรกรรมช่วยชีวิตทหารกว่า 200 นาย โดยมันเป็น 1 ในนกพิราบสื่อสาร 600 ตัวของ Army Signal Corps ที่ส่งไปยังฝรั่งเศสเพื่อช่วยในการสื่อสาร (รูปหน้าปกของบทความ ไม่ใช่นกตัวจริง แต่ใช้เพื่อประกอบเนื้อหาให้ชัดเจนขึ้นเท่านั้น)
แชร์ อามี่
โดย “แชร์ อามี” เป็นนกพิราบที่มีอัตราความสำเร็จสูงสุดในหมู่นกพิราบ เคยได้รับภารกิจมาทั้งหมด 12 ภารกิจ (สำเร็จ 100%) ซึ่งความยากของแต่ละภารกิจคือการเอาชีวิตรอดจากทหารเยอรมัน เนื่องจากช่วงนั้นทหารเยอรมันรู้แล้วว่ากองทัพฝ่ายตรงข้ามใช้นกพิราบในการสื่อสาร เหล่าทหารจึงจะพยายามยิงนกพิราบทุกตัวที่บินเข้ามาในเขตแดน
เอาล่ะ..เข้าเรื่อง – ย้อนไปในปี ค.ศ.1918 ที่ป่าอาร์กอนน์ ทางตะวันออกของฝรั่งเศส แชร์ อามี่ ถูกส่งไปกับกองพลที่ 77 นำโดย พันตรีชาร์ลส์ วิทเทิลซีย์ ได้รุกคืบโจมีตีฝ่าแนวป้องกันของทหารเยอรมันอย่างรวดเร็ว แต่ทว่าโชคร้ายที่ขาดการสื่อสารทำให้กองพลอื่นไม่ได้ตามมาด้วย ทำให้ต่อมาถูกขนานนามว่า Lost Battalion (กองพลสาบสูญ)
กองพลที่ 77 และภาพเล็กคือ พันตรีชาร์ลส์ วิทเทิลซีย์
ท่ามกลางสถานการณ์เลวร้าย กองพลที่ 77 ถูกล้อมรอบด้วยกองทัพเยอรมัน และด้วยการถูกตัดขาดจากวิทยุสื่อสาร ทำให้ฝ่ายสหรัฐฯเองก็ไม่รู้ชะตากรรมของกองพลนี้เหมือนกัน ซึ่งพวกเขาเชื่อว่าการหลุดเข้าไปอยู่ในวงล้อมแบบนั้น น่าจะไม่เหลือรอดแล้วแน่ ๆ หรือการจะส่งคนเข้าไปตรวจสอบช่วยเหลือ ก็เสี่ยงจะถูกจับหรือถูกฆ่าตายเปล่า ๆ ทำให้ศูนย์บัญชาการแนวรบตัดสินใจสั่งการยิงปืนใหญ่ในป่า เพื่อถล่มแนวรับของฝ่ายเยอรมัน
สถานการณ์เริ่มคับขัน ปืนใหญ่จากฝ่ายเดียวกันเองเริ่มใกล้ตำแหน่งที่พวกเขาอยู่เต็มที กลับมาที่ทางด้าน พันตรีชาร์ลส์ วิทเทิลซีย์ เขามีทางเลือกเดียวที่จะสามารถสื่อสารกับศูนย์บัญชาการที่อยู่ห่างออกไป 40 กิโลเมตรได้คือใช้ ”นกพิราบ” ซึ่งนกพิราบเพียงตัวเดียวที่เหลืออยู่ คือ “แชร์ อามี่” นอกนั้นถูกยิงตายหมดแล้ว ดังนั้นเขาจึงเลือกเดิมพันทั้งหมดกับเจ้าแชร์ อามี่ โดยเขียนข้อความผูกไว้ที่ขา ‘ระบุตำแหน่งและขอให้หยุดการโจมตีปืนใหญ่ดังกล่าว’
ในระหว่างทาง แชร์ อามี ถูกกองทัพเยอรมันยิงทะลุหน้าอก ร่วงลงมาที่พื้น แต่มันก็อึดและใจสู้ลุกขึ้นมาบินต่อ ฝ่ากระสุนไปจนถึงศูนย์บัญชาการ ทำให้พวกเขาทราบว่ากองพลที่ 77 ยังมีชีวิตอยู่ และได้หยุดการยิงปืนใหญ่ ซึ่งสภาพของแชร์ อามี สาหัสมา มันเสียขาขวาไป 1 ข้าง และตาบอด 1 ข้าง แต่โชคดีที่ทีมแพทย์ช่วยชีวิตมันไว้ได้ ทั้งนี้ ความน่าทึ่งนอกจากความอึดและใจสู้แล้ว แชร์ อามี ยังใช้เวลาในการบินเร็วการนกพิราบทั่วไปถึงครึ่งชั่วโมง
สุดท้ายจากการส่งสารของแชร์ อามี ทำให้ทหารทั้ง 194 คน ของกองพลที่ 77 ที่ยังรอดชีวิตได้รับการช่วยเหลือ และรอดตายในวันนั้นมาได้ โดยหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวจบลง แชร์อามี่ ได้รับการรางวัลเหรียญกล้าหาญ ทว่าน่าเศร้าที่บาดแผลที่แชร์ อามี่ ได้รับมันสาหัสเกินไปทำให้ มันได้เสียชีวิตลง เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน ในปี ค.ศ.1919 โดยปัจจุบันร่างของแชร์ อามี่ถูกสตาร์ฟ และจัดแสดงอยู่ที่สถาบันสมิธโซเนียนอย่างมีเกียรติ
Fact – นกพิราบสื่อสาร (Homing pigeon) เป็นนกพิราบเลี้ยงที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Columba livia เป็นนกอีกชนิดหนึ่งที่แยกออกจากนกพิราบทั่วไป เนื่องจากเป็นนกที่สามารถจดจำทิศทางในการบินกลับรังที่แม่นยำเป็นอย่างมาก และยังสามารถจำแหล่งหากินได้ดีด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ยังสามารถบินได้ในระยะทางที่ไกลโดยไม่ต้องพักเหนื่อย ทำให้มันถูกนำมาฝึกฝนและใช้ในการส่งจดหมายสื่อสารในสมัยโบราณนั่นเอง