แม้สงครามเย็นจะผ่านพ้นไปหลายสิบปีแล้ว แต่ผลกระทบของการทดสอบนิวเคลียร์ ยังคงมีอิทธิพลต่อโลกจนถึงปัจจุบัน โดยงานวิจัยล่าสุดพบว่า แม้แต่สัตว์จำพวกกุ้งอย่าง “แอมฟิพอด” (Amphipods) ที่อาศัยอยู่ใต้ทะเลลึกกว่า 11,000 เมตร ยังไม่สามารถรอดพ้นจากการปนเปื้อนของระเบิดนิวเคลียร์ที่เกิดขึ้นบนผิวน้ำได้
โดยข้อมูลจาก สำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศระบุว่า ในระหว่างปี ค.ศ.1945-1963 มีการทดสอบระเบิดนิวเคลียร์มากถึง 500 ลูก ซึ่งส่วนใหญ่ถูกปล่อยโดยสหรัฐฯ และสหภาพโซเวียต โดยการทดสอบเหล่านี้ได้เพิ่มปริมาณคาร์บอนกัมมันตภาพรังสี (ที่แตกตัวมาจากอนุภาคนิวเคลียร์) บนโลกเราเป็นอย่างมาก จนทำให้สิ่งมีชีวิตทั้งบนบกและใต้มหาสมุทรต่างต้องดูดซับสารกัมมันตภาพรังสีดังกล่าวอย่างเลี่ยงไม่ได้
จนกระทั่งในปี ค.ศ.1963 ได้มีสนธิสัญญาห้ามการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ขึ้น ทำให้การทดสอบนิวเคลียร์ทั้งบนชั้นบรรยากาศและใต้น้ำหยุดลง แต่ทว่า ปัจจุบันโลกยังไม่สามารถฟื้นตัวจากเหตุการณ์ดังกล่าว และยังคงมีระดับคาร์บอนกัมมันตภาพรังสีในอากาศปริมาณมาก แม้ว่าจะผ่านมาหลายสิบปีแล้วก็ตาม
ตรงส่วนแดง ๆ คือถูกแทนที่ด้วยอนุภาคนิวเคลียร์
ทั้งนี้ งานวิจัยที่ตีพิมพ์ลงในวารสาร Geophysical Research Letters ได้ศึกษาเกี่ยวกับ ผลจากการทดสอบระเบิดนิวเคลียร์ที่ส่งผลให้มีการแพร่กระจายคาร์บอนกัมมันตภาพรังสี ไปยังสัตว์จำพวกกุ้งที่อาศัยอยู่ใต้ทะเล โดยทีมวิจัยได้สำรวจบริเวณร่องลึกมูซอ, ร่องลึกนิวบริเตน และร่องลึกมาเรียนา ซึ่งพวกเขาพบว่า แอมฟิพอด ณ จุดที่สำรวจมีขนาดใหญ่กว่าแอมฟิพอดปกติ 4 เท่า อายุยืนกว่า 10 ปี จากปกติมีอายุแค่ 2 ปีเท่านั้น ซึ่งคาดว่าเป็นผลมาจากการได้รับคาร์บอนกัมมันตภาพรังสีสูงมาก ซึ่งข้อมูลเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าอาจมีแนวโน้มที่สัตว์เหล่านี้จะกลายพันธุ์ในอนาคตเพื่อความอยู่รอด
แน่นอนว่า การค้นพบนี้ได้สร้างความตกใจให้กับทีมนักวิจัยเป็นอย่างมาก เพราะเดิมทีปริมาณคาร์บอนกัมมันตภาพรังสีในมหาสมุทรจะต้องใช้เวลานานกว่า 1,000 ปี เพื่อหมุนเวียนก่อนจะลงสู่ก้นทะเล แต่สาเหตุที่แอมฟิพอดได้รับคาร์บอนกัมมันตภาพรังสีในปริมาณมากและรวดเร็วแบบนี้ เป็นผลมาจากทางลัดของห่วงโซ่อาหาร เพราะสัตว์ชนิดนี้มักจะกินอินทรียวัตถุและซากสิ่งมีชีวิตที่ตกลงมาจากพื้นผิวสู่ก้นทะเล นั่นจึงทำให้แอมฟิพอดดูดซับคาร์บอนกัมมันตภาพรังสีที่ติดมากับซากเหล่านั้นเข้าสู่ร่างกายนั่นเอง
ร่องลึกมาเรียนา เป็นบริเวณที่มีสิ่งมีชีวิตจำพวกกุ้งอย่าง “แอมฟิพอด” อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม แม้การค้นพบครั้งนี้จะดูน่าตกใจ แต่ที่จริงแล้ว เคยมีการค้นพบโลหะและถังขยะพลาสติก ที่ใต้ทะเลลึก 3,000 เมตร บริเวณนอกชายฝั่งทางตะวันออกของสหรัฐฯ มาก่อนแล้ว ดังนั้น งานวิจัยนี้จึงเป็นเครื่องย้ำเตือนว่า แม้ในพื้นที่ลึก ๆ ที่เราคาดไม่ถึง ก็ไม่อาจหลบหนีจากผลของการทดลองสุดอันตรายที่เกิดขึ้นจากน้ำมือของมนุษย์ไปได้
Fact – หลังจาการกระเบิดของแท่นขุดเจาะน้ำมัน “Deepwater Harizon” ที่ตั้งอยู่กลางอ่าวเม็กซิโก ในปี 2010 ทำให้น้ำมันกว่า 130 ล้านแกลลอนรั่วไหลลงสู่มหาสมุทร ซึ่งจากเหตุการณ์นี้ ทำให้เกิดการกลายพันธุ์ในสัตว์ทะเลอย่าง ปูก้ามแดง กุ้งก้ามแดง และกุ้งคาริเดียน ที่สามารถดูดซับสารพิษได้โดยไม่ตาย แต่ก็ต้องแลกมาด้วยความพิการ เช่น ปูบางตัวมีขาไม่ครบ 8 ขา ก้ามใหญ่โตผิดปกติ ร่างกายขยายใหญ่ขึ้น เกิดเนื้องอกตามร่างกาย เป็นต้น