เคยสงสัยไหมว่า แมวของเราที่เลี้ยงไว้ เวลามันไปนั่งตามจุดต่าง ๆ ในบ้าน ก้นของมันสัมผัสกับเฟอร์นิเจอร์ในบ้านเราหรือเปล่า ? เรื่องนี้หนูน้อยชั้นป.6 “คาเดน กริฟฟิน” จากรัฐเทนเนสซี ก็สงสัยเหมือนกัน เขาเลยทำการทดลองกับแมวที่บ้าน และส่งเขา้ประกวดในงานวิทยาศาสตร์ของโรงเรียน
คาเดน กริฟฟิน
โดยคาเดนตั้งสมมุติฐานว่า “เวลาแมวนั่ง ก้นน่าจะสัมผัสกับเฟอร์นิเจอร์ในบ้านด้วย” และเพื่อทดสอบสมมุติฐานดังกล่าว เขาได้ใช้ลิปสติกปลอดสารพิษทาไปที่ก้นของแมว 2 ตัว ชื่อ “ทาโก้” และ “มายา” แบ่งเป็น ขนยาว-ยาวปานกลาง และขนสั้น และแบ่งพื้นผิวสัมผัสออกเป็น 2 ลักษณะ คือ พื้นแข็ง (เช่นโต๊ะ พื้นบ้าน) และพื้นนุ่ม (เช่นโซฟา ที่นอน)
จากนั้นก็เล่นกับแมวให้มันทำอิริยาบทต่าง ๆ ทั้งนั่ง นอน กระโดด กลิ้ง ซึ่งการวัดผลก็ง่าย ๆ ครับ หากก้นมันสัมผัสกับเฟอร์นิเจอร์ในบ้านตามที่ตั้งสมมุติฐานไว้ ก็จะมีรอยลิปสติกติดอยู่ตามจุดต่าง ๆ นั่นเอง และผลปรากฏว่า ก้นของแมวขนยาว-ยาวปานกลาง ไม่ได้สัมผัสกับเฟอร์นิเจอร์เลย ไม่ว่าจะเป็นพื้นนุ่มหรือพื้นแข็งก็ตาม แต่กลับกัน ก้นแมวขนสั้นจะสัมผัสกับพื้นผิวอ่อนนุ่ม เช่น โซฟา กองผ้า ที่นอน หรือพื้นผิวที่ไม่เสมอกัน แต่ถึงอย่างนั้น ยังดีที่ก้นมันไม่สัมผัสกับพื้นผิวแข็ง
ก้นน้องไม่โดนพื้นบ้านเรานะ สบายใจได้
“แน่นอนว่า งานวิจัยชิ้นนี้ได้ A+ เพราะนอกจากมันจะสร้างสรรค์แล้ว มันยังได้รับความสนใจจากคนจำนวนมากอีกด้วย ไม่ใช่แค่ในโรงเรียน แต่เป็นทั่วโลก !” – คุณแม่ของคาเดนกล่าว สุดท้าย ต้องขอบคุณเจ้าหนูคาเดนที่ทำให้เราหายสบายใจได้ว่า แมวที่บ้านไม่ได้เอาก้นถูกกับของในบ้าน
เพิ่มเติม – เพราะเหตุใด ทำไมเราถึงแยกชนิดหรือสายพันธุ์แมวไม่ออก ? ต่างจากหมาที่เราสามารถบอกได้ว่า ตัวนี้เป็นไซบีเรียน ตัวนี้เป็นโกลเด้น เรื่องนี้ได้รับการศึกษาอย่างจริงจังในปี 2019 โดยนักวิทยาศาสตร์จาก Oregon State University พบว่า ในอดีตสุนัขได้รับความสนใจและศึกษามันมากกว่าแมวมานานหลายสิบปี และแต่ก่อนยังไม่ค่อยมีการนำเข้าแมวต่างสายพันธุ์มากนัก ทำให้ผู้คนส่วนใหญ่ในแต่ละพื้นที่คุ้นเคยกับแมวท้องถิ่น เราเลยเรียกแมวว่า “แมว” ไม่ว่าจะสายพันธุ์ใดก็ตาม อีกทั้งเอกลักษณ์ของแมวแต่ละสายพันธุ์ไม่ได้โดดเด่นเท่าสุนัข ทำให้ส่วนใหญ่แล้วแยกไม่ออกนั่นเอง
Fact – กำลังเครียดอยู่ใช่ไหม ? ลองดูคลิปแมวสิ มันช่วยได้จริง ๆ นะ ! จากการศึกษาของ เจสซิกา กัล มีริคก์ นักวิจัยจาก Indiana University ที่ทำการสำรวจผู้ดูวิดีโอเกี่ยวกับแมวประมาณ 7,000 คน และสอบถามความรู้สึก คนส่วนใหญ่ตอบว่า มันช่วยลดความเครียดและเพิ่มความรู้สึกเชิงบวกได้จริง ซึ่งแม้จะไม่ทราบว่ากลไกการทำงานของสมองสอดคล้องกับการดูคลิปวิดีโอแมวอย่างไร แต่ในอนาคต เป็นไปได้ว่าอาจใช้คลิปวิดีโอแมวหรือสุนัขในการบำบัดผู้ป่วยทางจิตจากความเครียดหรือซึมเศร้า