พบ “ภูเขาไฟน้ำแข็ง” บนดาวพลูโต สิ่งมหัศจรรย์ที่บ่งชี้ว่าอาจมีแหล่งน้ำขนาดใหญ่ใต้ผิวดาวดวงนี้

รูปภาพของดาวพลูโตที่ถ่ายโดย New Horizons ยานสำรวจอวกาศขององค์การนาซา (NASA) ทำให้หลายคนต้องประหลาดใจ เพราะอดีตดาวเคราะห์ของระบบสุริยะจักรวาลดวงนี้ มี “ภูเขาไฟน้ำแข็ง” อยู่ ซึ่งต่างจาก “ภูเขาไฟที่ปกคลุมด้วยน้ำแข็ง” ที่พบบนโลก ยาน New Horizons บินผ่านดาวพลูโตและดวงจันทร์ของมันตั้งแต่เมื่อเดือน ก.ค. 2015 แต่ข้อมูลที่รวบรวมมาได้ยังไม่ได้รับการวิเคราะห์ทั้งหมด และยังคงมีข้อมูลและความเข้าใจใหม่ ๆ เกี่ยวกับดาวพลูโตออกมาอยู่เรื่อย ๆ
การวิเคราะห์ภาพถ่ายใหม่แสดงให้เห็นบริเวณหนึ่งที่เป็นหลุมเป็นบ่อบนดาวพลูโต ที่ดูแล้วไม่เหมือนบริเวณอื่นใดบนดาวพลูโต และยิ่งไปกว่านั้น คือไม่เหมือนกับพื้นที่ใดในสุริยะจักรวาลของเราเลย

บริเวณภูเขาไฟน้ำแข็งของดาวพลูโตสามารถเห็นได้ในภาพนี้ซึ่งถ่ายโดยยานอวกาศ New Horizons ของ NASA

เคลซี ซิงเกอร์ นักวิจัยอาวุโสของสถาบันวิจัยเซาธ์เวสต์ ในเมืองโบลเดอร์ รัฐโคโลราโด สหรัฐฯ ระบุว่า “เราพบทุ่งภูเขาไฟน้ำแข็งขนาดใหญ่มาก ซึ่งดูไม่เหมือนสิ่งอื่นใดที่เราเคยเห็นในระบบสุริยะ”
การค้นพบนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Nature Communications ระบุว่า พื้นที่ภูเขาไฟน้ำแข็งนี้ ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของแผ่นน้ำแข็งสปุตนิก พลานิเทีย ซึ่งครอบคลุมแอ่งน้ำโบราณที่ทอดตัวยาวถึง 1,000 กิโลเมตร ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นเหมือนบ่อน้ำแข็งเต็มไปด้วยโดมภูเขาไฟ ซึ่งภูเขาไฟน้ำแข็ง 2 ลูกที่ใหญ่ที่สุดที่พบมีชื่อว่า ไรต์มอนส์ (Wright Mons) และพิกการ์ดมอนส์ (Piccard Mons) ไรต์มอนส์มีความสูงประมาณ 4-5 กิโลเมตร) กว้าง 150 กิโลเมตร ในขณะที่พิกการ์ดมอนส์มีความสูงประมาณ 7 กิโลเมตร และกว้าง 225 กิโลเมตร ไรต์มอนส์มีปริมาตรใกล้เคียงกับภูเขาไฟมอนาโลอา (Mauna Loa) ในฮาวาย ซึ่งเป็นหนึ่งในภูเขาไฟที่ใหญ่ที่สุดในโลก

นักวิทยาศาสตร์ยังพบว่า โดมภูเขาไฟเหล่านี้ บางครั้งยังรวมตัวเพื่อก่อให้เกิดโดมภูเขาไฟที่ใหญ่ขึ้นได้อีกด้วย
“ลักษณะที่ปรากฏเหล่านี้แตกต่างจากภูเขาไฟในระบบสุริยะะอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นภูเขาไฟที่มีน้ำแข็งปกคลุม หรือภูเขาไฟที่เป็นหิน พวกมันก่อตัวเป็นภูเขา แต่ไม่มีแอ่งภูเขาไฟที่ด้านบน และมีหลุมบ่อขนาดใหญ่ทั่วภูเขา” ซิงเกอร์กล่าว
ทีมวิจัยตั้งข้อสังเกตว่า พื้นที่ดังกล่าวไม่มีหลุมอุกกาบาตซึ่งมักจะพบได้ทั่วไปบนพื้นผิวของดาวพลูโต ซึ่งบ่งชี้ว่า ภูเขาไฟน้ำแข็งมีการคุกรุ่นไม่นาน (100-200 ล้านปีก่อน ซึ่งในทางธรณีวิทยาถือว่าเป็นช่วงเวลาที่สั้น) และภายในของดาวพลูโตมีความร้อนตกค้างมากกว่าที่คาดไว้ “นี่หมายความว่าดาวพลูโตมีความร้อนภายในมากกว่าที่เราคิด ซึ่งหมายความว่าเรายังไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า ดาวดวงนี้ทำงานอย่างไร” ซิงเกอร์กล่าว

หากภูเขาไฟน้ำแข็บนดาวพลูโตปะทุ มีการวิเคราะห์ว่า มันอาจจะดูแตกต่างไปจากการปะทุของภูเขาไฟบนโลกของเรา
“สิ่งที่ปะทุออกมาจะไม่ใช่ลาวา แต่จะเป็นเหมือนน้ำแข็งปนน้ำเหนียว ๆ มันจะเหมือนกับ ‘ยาสีฟันไหลออกจากปล่องภูเขาไฟ’ ไปยังพื้นผิวดาวพลูโต พื้นผิวของดาวพลูโตเย็นมากจนน้ำไม่สามารถคงสภาพเป็นของเหลวได้นาน ในบางกรณี การไหลของยาสีฟันนี้อาจก่อให้เกิดโดมขนาดใหญ่ที่เราเห็น” ซิงเกอร์กล่าว
ดาวพลูโตเคยมีมหาสมุทรใต้ผิวดิน และการค้นพบภูเขาไฟน้ำแข็งเหล่านี้อาจบ่งบอกว่ามหาสมุทรใต้ผิวดินดาวพลูโตยังคงอยู่ และน้ำที่เป็นของเหลวนั้นอาจอยู่ใกล้พื้นผิว เมื่อรวมกับแนวคิดที่ว่าดาวพลูโตมีชั้นภายในที่อุ่นกว่าที่เคยเชื่อกัน

การสำรวจพื้นผิวใต้พิภพที่น่าสนใจของดาวพลูโตจะต้องส่งยานอวกาศไปยังโลกที่ห่างไกล
“ในอนาคตเราอาจจะส่งยานออกไปในภารกิจหน้าเพื่อใช้เรดาร์เจาะน้ำแข็งเพื่อมองเข้าไปในดาวพลูโตได้โดยตรง ซึ่งอาจทำให้เราห็นเส้นทางในช่องของภูเขาไฟนั้นว่ามีหน้าตาเป็นอย่างไร” ซิงเกอร์กล่าว

เพิ่มเติม – ดาวพลูโตเดิมเป็นดาวเคราะห์ดวงที่ 9 ในระบบบสุริยะจักรวาล แต่ถูกจัดให้เป็นดาวเคราะห์แคระในปี 2006 เมื่อสหพันธ์ดาราศาสตร์สากลสร้างคำจำกัดความใหม่สำหรับดาวเคราะห์ และดาวพลูโตไม่เข้าเกณฑ์นั้น
ดาวพลูโตมีขนาดประมาณ 2 ใน 3 ของดวงจันทร์ของเรา มีลักษณะเป็น “โลกน้ำแข็ง” มีอุณหภูมิเฉลี่ยติดลบที่ -232 องศาเซลเซียส ภูมิประเทศมักเป็นภูเขา หุบเขา ธารน้ำแข็ง ที่ราบ และหลุมอุกกาบาต

 

อ้างอิง – cnn.com / denver7.com

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *