“ไซตามะ” แห่งท้องทะเล สิ่งมีชีวิตต่อยแรงที่สุดในโลก (ซัดตู้ปลาแตกได้ในหมัดเดียว)

“กั้งตั๊กแตนตำข้าว” (Mantis shrimps) แม้ในภาษาอังกฤษจะชื่อว่ากุ้ง แต่แท้จริงแล้วมันคือสัตว์ในตระกูลกั้ง ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า “Odontodactylus scyllarus” มีวิวัฒนาการมาตั้งแต่ 170 ล้านปีก่อน (อยู่บนโลกมาก่อนไดโนเสาร์เสียอีก) พวกมันได้รับการบันทึกลงใน guinness world record ว่าเป็น “สิ่งมีชีวิตที่ต่อยแรงที่สุดในโลก” เนื่องจาก “หมัด” อันทรงพลัง ที่สามารถต่อยเหยื่อให้ตายได้ในหมัดเดียว แถมครั้งหนึ่งยังเคยต่อยนักดำน้ำที่ทะลึ่งไปจับมันจนนิ้วขาดเลยด้วย (โคตรโหด)


กั้งตั๊กแตนตำข้าวมีมากกว่า 400 สายพันธุ์ทั่วโลก โดยนักวิทยาศาสตร์แบ่งพวกมันออกเป็น 2 ชนิดหลัก คือ 1. สเปียร์เรอร์ (spearers – กั้งจอมเสียบ) 2. สแมชเชอร์ (smashers – กั้งจอมทุบ) ซึ่งทั้ง 2 ชนิดนี้แตกต่างกันตรงที่ อาวุธในการล่าเหยื่อและป้องกันตัว ซึ่งสเปียร์เรอร์ (ชนิดที่ 1) จะใช้ขาคู่หน้าที่ยาวและคมในการแทงเหยื่อ ส่วนสแมชเชอร์ (ชนิดที่ 2) จะใช้ขาคู่หน้าสุดแข็งแกร่งทุบหรือต่อยเหยื่อแทน โดยในบทความนี้เราจะพูดถึงชนิดที่ 2 เป็นหลัก (แต่มีอธิบายชนิดที่ 1 อยู่ที่ส่วน Fact ครับ)

กั้งตั๊กแตนตำข้าวมีแหล่งที่อยู่อาศัยตามแนวปะการังและแหล่งน้ำตื้นเขตร้อนทั่วโลก แต่จะพบได้มากในมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย โดยมีขนาดโตเต็มที่ประมาณ 18 เซนติเมตร หนัก 0.6 กิโลกรัม (หนักพอ ๆ กับลูกบาสเก็ตบอล 1 ลูก) แม้ภายนอกพวกมันจะดูไม่น่ากลัว แถมยังมีสีสันสดใสสะดุดตา แต่อย่าไปเข้าใกล้เชียวล่ะ เพราะกุ้งตั๊กแตนตำข้าวเป็นสัตว์ก้าวร้าวและหวงอาณาเขตสุด ๆ เมื่อไหร่ก็ตามที่ถูกบุกรุก พวกมันจะชักอาวุธที่ซ่อนไว้ใต้ลำตัว นั่นคือ “หมัด” หรือขาคู่หน้าออกมาต่อยเพื่อป้องกันตัวทันที (เชื่อเถอะว่าคุณไม่อยากถูกมันต่อยหรอก)


รอย คาลด์เวลล์ (Roy Caldwell) ศาสตราจารย์ด้านชีววิทยาเชิงบูรณาการและผู้เชี่ยวชาญด้านกั้งตั๊กแตนตำข้าว ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียเบิร์กลีย์ ระบุว่า หมัดของกั้งตั๊กแตนตำข้าว มีความเร็วถึง 23 เมตร/วินาที ซึ่งเร็วกว่าการกระพริบตาของมนุษย์ถึง 50 เท่า หรือเร็วเทียบเท่ากระสุนปืน 0.22 มม. วิ่งออกจากรังเพลิงเลยทีเดียว (ความแรงของหมัดนี้คิดเป็น 100 เท่าของน้ำหนักตัว) ซึ่งความรุนแรงระดับนี้ ทำให้มันสามารถต่อยตู้ปลาแตกได้ในหมัดเดียวนั่นเอง

นอกจากนี้ มันยังเพิ่มพลังการโจมตีให้ติด Critical (ความแรงคูณ 2) ได้ด้วยการสร้างฟองอากาศที่เกิดขึ้นจากความเร็วในการดีดขาคู่หน้าหรือหมัดออกไป และอัดฟองอากาศนี้เข้าไปที่ตัวเหยื่ออีกที ซึ่งเมื่อรวมกับความแรงของหมัด + การอัดฟองอากาศแล้ว ก้ามปูที่ว่าหนาก็เป็นแค่เปลือกไข่ล่ะครับ

คาลด์เวลล์ ยังเพิ่มเติมอีกว่า “เขาเคยได้รับรายงานจากศัลยแพทย์ในแอฟริกา ว่ามีนักท่องเที่ยวคนหนึ่งพยายามจับกั้งตั๊กแตนตำข้าว จนถูกต่อยเข้าที่มือจนนิ้วขาดเลยทีเดียว”

คำถาม : พวกมันต่อยแรงขนาดนี้ แล้วตัวเองไม่บาดเจ็บบ้างเหรอ ? ตอบ : นักวิทยาศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยแคริฟอเนียร์ ระบุว่า หมัด หรือ ขาคู่หน้าของกั้งตั๊กแตนตำข้าว มีโครงสร้างเส้นใยของไคตินแบบเกลียว (สารที่เป็นส่วนประกอบของเปลือก) และ สารไฮดรอกซีอะพาไทต์ (สารที่เป็นส่วนประกอบของฟันมนุษย์) ซึ่งเรียงตัวซ้อนแบบฟันปลา อีกทั้งลักษณะของหมัดที่ดูคล้ายกับไม้กอล์ฟ ก็มีระบบช่วยซับแรงกระแทก ทำให้มันไม่ได้รับบาดเจ็บจากแรงสะเทือน ไม่ว่าจะต่อยแรงแค่ไหนก็ตาม

ความเจ๋งของกั้งตั๊กแตนตำข้าวยังไม่หมดเพียงเท่านี้ พวกมันยังมี “ตา” ที่มีเซลล์รับแสงมากถึง 12 ถึง 16 สี (มนุษย์มีเซลล์รับแสง 3 สี คือ แดง น้ำเงิน เขียว) เป็นดวงตาที่ซับซ้อนที่สุดในอาณาจักรสัตว์ สามารถใช้ในการคาดเดาเหตุการณ์ล่วงหน้า (คล้ายกับแมลงวัน ที่จะเห็นภาพการเคลื่อนไวของศัตรู หรือเหยื่อเป็นภาพสโลโมชั่น) ซึ่งในดวงตา 1 ข้าง ประกอบด้วยตาเล็ก ๆ หลายพันดวง สามารถมองเห็นสีรังสียูวีได้ อีกทั้งยังแสกนร่างกายมนุษย์เพื่อตรวจหามะเร็งได้ด้วย เนื่องจากดวงตาของมันสามารถจับแสงโพลาไรซ์ที่สะท้อนความแตกต่างระหว่างเนื้อเยื่อที่เป็นมะเร็งและเนื้อเยื่อปกติได้นั่นเอง

Fact – กั้งตั๊กแตนตำข้าวชนิด “สเปียร์เรอร์” (spearers – กั้งจอมเสียบ) ชนิดที่ 1 พวกมันมีความแข็งแกร่งไม่แพ้กั้งชนิดสแมชเชอร์ (smashers – กั้งจอมทุบ) เลยแม้แต่น้อย อาวุธของกั้งตั๊กแตนตำข้าวชนิดนี้ คือหอก หรือ ขาคู่หน้าที่แหลมคม (คมพอจะตัดนิ้วคนได้สบาย ๆ) มีความเร็วพุ่งโจมตีเหยื่อได้ภายในเสี่ยววินาที โดยจะซุ่มอยู่ใต้ทราย หากเหยื่อปลาหรือกั้งว่ายผ่านมา มันจะใช้ขาคู่หน้าแทงทะลุตัวและลากเหยื่อลงไปกินทันที กระบวนการล่าแบบนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาไม่ถึง 1 วินาที ครับผม

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *