มีข้อถกเถียงที่หลายคนอาจสงสัยว่า การเป็นวีแกน (Vegan) ดีกว่าการกินเนื้อจริงเหรอ ? คำตอบของคำถามนี้ถูกพิสูจน์โดยคู่ฝาแฝด ฮิวโก้ และลอสส์ เธิร์นเนอร์ ที่เปรียบเทียบการกินอาหารที่แตกต่างกัน (คนหนึ่งกินผัก-คนหนึ่งกินเนื้อ) เพื่อหาว่าอะไรจะดีต่อร่างกายมากที่สุด และอะไรจะส่งผลเสียมากกว่ากัน
การทดลองนี้อยู่ภายใต้โครงการ Twin Research ของมหาวิทยาลัย King College London ประเทศอังกฤษ กำหนดระยะเวลาทำการทดลองทั้งสิ้น 12 สัปดาห์ โดยฮิวโก้จะทานอาหารแบบวีแกน (ผักล้วน) ส่วนลอสส์จะทานอาหารแบบปกติ ซึ่งในการทดลองจะกำหนดแคลอรี่ในการทานต่อวันเท่ากัน ออกกำลังกายเหมือนกัน และจะมีการวัดน้ำหนัก คอเลสเตอรอล และมวลกล้ามเนื้อ
ก่อนการทดลอง ทั้งคู่มีน้ำหนักและไขมันในร่างกายพอ ๆ กัน คือหนักประมาณ 80 กิโลกรัม มีไขมันร่างกายประมาณ 13% ในช่วงแรกร่างกายของฮิวโก้ต้องปรับตัวลำบากมากเนื่องจากการกินอาหารที่เปลี่ยนไป เขากล่าวว่า “มันค่อนข้างทรมานในช่วง 2-3 สัปดาห์แรก ร่างกายผมโหยหาเนื้อมาก ๆ ทั้งนม ทั้งชีส ในการทดลองนี้ผมต้องเปลี่ยนไปกินแต่ผัก ผลไม้ ถั่ว ในการเริ่มต้นผมรู้สึกไม่ค่อยมีแรง นอนไม่หลับและรู้เลยว่าพลังงานในแต่ละวันลดน้อยลงไปมาก” ส่วนลอสส์ ร่างกายค่อนข้างปกติ เพียงแต่มีเรื่องของแคลอรี่ต่อวันที่เข้ามาเป็นตัวกำหนดการกินขึ้นเท่านั้น
ทว่าความเปลี่ยนแปลงเริ่มชัดเจนหลังเข้าสู่ระยะกลางของการทดลอง ร่างกายของฮิวโก้เริ่มปรับตัวได้ เขาหิวน้อยลงระหว่างวัน ออกกำลังกายได้นานขึ้น ตื่นตัวมากขึ้น มีสมาธิในการทำสิ่งต่าง ๆ มากขึ้นด้วย แถมน้ำหนัก คอเรสเตอรอล และไขมันในร่างกายก็ลดลงเช่นกัน ในทางตรงกันข้าม ลอสส์ที่กินอาหารปกติ มีน้ำหนัก ไขมัน คอเรสเตอรอล และมวลกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้น แถมระหว่างวันเขาก็หิวบ่อยมากกว่าฮิวโก้ด้วย
จนกระทั่งสิ้นสุดการทดลอง (ระยะเวลา 3 เดือน) ผลคือ “ฮิวโก้” มีน้ำหนักลดลง 4 กิโลกรัม แต่มวลกล้ามเนื้อเท่าเดิม เท่ากับว่าน้ำหนักที่ลดลงเป็นไขมันล้วน ๆ และระดับคอเลสเตอรอลก็ลดลงด้วย ส่วน “ลอสส์” น้ำหนักเพิ่มขึ้น 4 กิโลกรัม มวลกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้น 4.5 กิโลกรัม ไขมันเพิ่มขึ้น 2 %
โดย ดร.ทิม สเปกเตอร์ ผู้นำการทดลองนี้ กล่าวว่า สิ่งที่เป็นตัวแปรสำคัญที่สร้างแตกต่างจริง ๆ ระหว่างวีแกนกับคนปกติ คือการตอบสนองต่อ “น้ำตาล” ในร่างกายที่ไม่เหมือนกัน เนื่องจากน้ำตาลส่งผลกระทบต่อจุลินทรีย์ในลำไส้ ซึ่งหากจุลินทรีย์เหล่านั้นได้รับสารอาหารที่เหมาะสมถูกต้อง มันจะผลิตสารเคมีที่ทำให้ร่างกายของเรามีรูปร่างที่ดี มีระบบภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง ปรับเคมีในสมองให้ไม่หิวมากเกินไป และลดความเครียดได้ด้วย
สรุป : แล้วเราควรทานอาหารแบบไหนล่ะ ? จากการทดลองได้คำตอบว่า “ควรทานอาหารที่หลากหลาย แบบไม่เอียงไปฝั่งใดฝั่งหนึ่งมากเกินไป” เพราะการทานเนื้อและอาหารที่หลากหลายช่วงเสริมเรื่องภูมิคุ้มกันโรค แต่หากทานแต่เนื้อมากเกินไปก็ส่งผลเสียต่อจุลินทรีย์ในลำไส้ได้ ดังนั้นจึงต้องกินผัก ผลไม้และโปรตีนทดแทนแบบวีแกนบ้าง แต่หากเอียงไปทางวีแกนมากเกินก็อาจส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายทำงานได้ไม่ดีเท่าที่ควรเพราะขาดความหลากหลายของสารอาหารนั่นเองครับผม