Voyager 1 เป็นยานสำรวจอวกาศ (space probe) แบบไร้คนขับซึ่งองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐหรือ NASA ได้ทำการปล่อยขึ้นสู่อวกาศเมื่อวันที่ 5 กันยายน ค.ศ. 1977 ภายใต้โครงการ Voyager เป้าหมายเพื่อทำการศึกษาบริเวณรอบนอกของระบบสุริยะและห้วงอวกาศระหว่างดวงดาว (interstellar space) ส่วนที่ไกลออกไปจากอาณาเขตเฮลิโอสเฟียร์ (heliosphere) ปัจจุบันยานปฏิบัติภารกิจในอวกาศเป็นเวลา 45 ปี 1 เดือน 1 วัน (6 ตุลาคม 2022) และยังคงสื่อสารกับพื้นโลกผ่านทางเครือข่ายอวกาศห้วงลึก (DSN) เพื่อรับคำสั่งประจำและส่งข้อมูลกลับมายังโลก โดยเดินทางด้วยความเร็ว 37,907 mph (ไมล์ต่อชั่วโมง) ปัจจุบันระยะทางของยานสำรวจอยู่ไกลจากโลกราว 14.483 พันล้านไมล์ (23.307 พันล้านกิโลเมตร) *ข้อมูลเมื่อ 21 มกราคม 2022) ส่งผลให้ยาน Voyager 1 เป็นวัตถุที่สร้างโดยมนุษย์ที่อยู่ไกลจากโลกมากที่สุด
ยาน Voyager 1
ภารกิจของยานสำรวจคือการบินโฉบดาวพฤหัสบดี ดาวเสาร์ และดวงจันทร์ไททัน (ดาวบริวารที่ใหญ่ที่สุดของดาวเสาร์) Voyager 1 ได้ทำการสำรวจสภาพอากาศ สภาพสนามแม่เหล็กของดาวพฤหัสบดี และวงแหวนของดาวเสาร์ นอกจากนี้ยังเป็นยานสำรวจลำแรกที่ได้ถ่ายภาพเผยให้เห็นรายละเอียดของกลุ่มดาวบริวารของดาวเคราะห์เหล่านี้อีกด้วย
ภาพแสดงห้วงอวกาศระหว่างดวงดาว (interstellar space) และส่วนที่ไกลออกไปจากอาณาเขตเฮลิโอสเฟียร์ (heliosphere)
ภายหลังเสร็จสิ้นภารกิจหลักในโครงการวอยเอจเจอร์เช่นเดียวกับยานคู่แฝด Voyager 2 ยานสำรวจ Voyager 1 ได้รับภารกิจเพิ่มเติมให้ทำการระบุและศึกษาอาณาเขตอวกาศส่วนนอกของพื้นที่ยังได้รับอิทธิพลจากลมสุริยะหรือเฮลิโอสเฟียร์ และเริ่มการสำรวจมวลสารระหว่างดาวฤกษ์ โดยยานสำรวจ Voyager 1 ได้สร้างประวัติศาสตร์ในการเป็นยานสำรวจลำแรกที่เดินทางผ่านชั้นเฮลิโอพอสไปยังพื้นที่มวลสารระหว่างดาวฤกษ์เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2012 สองปีต่อมายาน วอยเอจเจอร์ 1 ได้เผชิญกับคลื่นยักษ์จากการปลดปล่อยมวลจากชั้นโคโรนาของดวงอาทิตย์ (coronal mass ejection) เรื่อยมาจนสิ้นสุดเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2014 ซึ่งเป็นการยืนยันแล้วว่ายานได้ในอยู่ในมวลสารระหว่างดาวฤกษ์แล้ว
ยาน Voyager 1 บนโลก
ในช่วงปลายของปี ค.ศ. 2017 ทีมงานของ Voyager ประสบความสำเร็จในการทดลองจุดชุดเครื่องยนต์ไอพ่นที่ใช้ในการควบคุมแนวโคจร (TCM) ซึ่งไม่ได้ใช้งานมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1980 ส่งผลให้สามารถขยายเวลาทำภารกิจของยานไปได้อีกสองถึงสามปี โดยคาดว่ายาน Voyager 1 จะสามารถทำภารกิจได้ต่อไปจนถึงปี ค.ศ. 2025 ซึ่งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าด้วยความร้อนจากไอโซโทปรังสี (RTG) จะผลิตพลังงานไฟฟ้าไม่เพียงพอเพื่อหล่อเลี้ยงเครื่องมือวัดทางวิทยาศาสตร์ภายในยาน และหลังจากนั้นยานจะลอยเคว้งคว้างเป็นวัตถุเร่ร่อนในอวกาศ
เพิ่มเติม – ยานสำรวจ Voyager 1 ใช้พลังงานไฟฟ้าจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้าด้วยความร้อนจากไอโซโทปรังสี หรืออาร์ทีจี (Radioisotope Thermoelectric Generator) รวม 3 เครื่อง ติดตั้งในลักษณะเป็นส่วนแขนยื่นออกจากตัวยาน เครื่องกำเนิดไฟฟ้าแต่ละเครื่องประกอบไปด้วยลูกบอลอัดเชื้อเพลิงพลูโตเนียม-238 (238Pu) ในรูปของพลูโตเนียมออกไซด์ (PuO2) ทั้งหมด 24 ลูก กำลังไฟฟ้าวัดได้รวม 470 วัตต์ ณ วันที่ทำการปล่อยยาน โดยพลังงานไฟฟ้าที่ได้จะลดลงเมื่อเวลาผ่านไป อันเป็นผลจากการสลายตัวของพลูโตเนียม-238 ที่มีค่าครึ่งชีวิตอยู่ที่ 87.7 ปี รวมถึงการเสื่อมสภาพของชุดเทอร์โมคัปเปิล อย่างไรก็ตามเครื่องกำเนิดไฟฟ้าอาร์ทีจีจะยังคงจ่ายพลังงานให้กับตัวยานได้อย่างเพียงพอต่อไปจนถึงปี 2025
อ้างอิง – solarsystem / voyager.jpl /